ตามหัวข้อเลยค่ะ จริงป่ะ เครื่องรางญี่ปุ่น หมดอายุ แล้วห้ามเก็บ? หรือที่หลายๆคนบอกว่า เครื่องรางญี่ปุ่น มีอายุ 1 ปี หมดปีแล้วจะต้องเอาไปคืนที่วัด-ศาลเจ้า จนกระทั่งกลายไปเป็นความกังวลของใครหลายคน ที่ต้องการมีเครื่องรางญี่ปุ่นไว้ครอบครองสักชิ้น วันนี้มาเล่า ถึงที่ไปที่มาของคำถามเหล่านี้ และตอบให้หายสงสัยกัน และมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงไร และต้องกังวลขนาดไหน จะได้ทราบที่ไปที่มาของเรื่องเหล่านี้ และทราบถึงต้นสายปลายเหตุจริงๆ จะได้นำไปปฏิบัติที่ถูกต้องกันต่อไป
ปัจจุบันเรื่องราวเกี่ยวกับอายุของเครื่องรางญี่ปุ่น นั้นคนที่ศึกษากันเรื่องนี้จริงๆ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เห็น คือ ก็อปแล้วแปะ กันซะส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร จนกลายเป็นความเชื่อที่บอกต่อกันไปในทางที่ไม่ถูกต้องนัก ว่า “เครื่องรางญี่ปุ่น มีอายุ 1 ปี” หรือ หนักไปกว่านั้น บางคนจะต้องเรียกถามหาใบเซอร์วันหมดอายุกับเครื่องรางญี่ปุ่นไปเลยก็ยังมี โปรดนั่งพับเพียบ ใจเย็นๆ เดี๋ยวป้า จะมาเล่าให้ฟังดังนี้ค่ะ
เครื่องรางญี่ปุ่น ไม่ได้มีอายุ 1 ปี เสมอไป
จริงๆแล้ว เครื่องรางญี่ปุ่น ไม่ได้มีอายุ 1 ปี เสมอไปค่ะ คนญี่ปุ่นจะมีการนำเครื่องรางมาคืนวัด-ศาลเจ้า สาเหตุอันเนื่องมาจาก ต้องการเปลี่ยนเครื่องรางใหม่ เครื่องรางที่ไม่ต้องการใช้แล้ว เครื่องรางเก่า ชำรุด เสียหาย เปลี่ยนประจำปี หรือแม้กระทั่งสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ก็จะนำเครื่องรางเหล่านี้ไปคืนวัด-ศาลเจ้า และต้องการให้วัด-ศาลเจ้าเค้าไปจัดแจงทำลายตามวิธีของทางวัด-ศาลเจ้านั้นๆ
วัดและศาลเจ้าเหล่านั้นก็จะรวบรวมไว้ในระยะหนึ่ง จนถึงระยะเวลาเผาทำลาย หรือบางที่จัดเป็นพิธีการทำลายแบบเป็นประเพณีกันอย่างยิ่งใหญ่เลยทีเดียวก็มี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัดและศาลเจ้านั้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มักจะจัดการครั้งใหญ่ หลังจากปีใหม่ไม่นาน ช่วงมกราคม ไปจนถึงกุมภาพันธ์(โดยประมาณ แต่ละที่มีช่วงเวลาไม่เหมือนกันแล้วแต่วัด-ศาลเจ้า) ทั้งนี้ เนื่องมาจากช่วงปีใหม่ คนญี่ปุ่นจะไปวัด-ศาลเจ้าในวันสิ้นปีและช่วงปีใหม่ จึงจะเช่าซื้อเครื่องราง ของขลังชิ้นใหม่ ไว้ในช่วงนี้ พร้อมกับทำการคืนเครื่องรางเก่าที่ใช้อยู่ จะเห็นว่า ช่วงเวลาการเปลี่ยนเครื่องรางญี่ปุ่น คือประมาณ 1 ปีพอดี จึงถือเป็นประเพณีนิยมที่ทำสืบกันมาจนทุกวัน
จริงๆแล้ว การคืนเครื่องรางญี่ปุ่นไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่า เครื่องรางญี่ปุ่นที่บูชาไป เมื่อครบ 1 ปี แล้ว จะต้องนำกลับไปคืนที่วัด-ศาลเจ้าค่ะ เพียงแต่ช่วงของช่วงเวลา Time Line ที่นิยมเปลี่ยนกัน มันครบรอบ 1 ปีพอดี และใครที่สามารถนำกลับไปเปลี่ยนใหม่ได้ทำ แต่ถ้าไม่ได้ ต้องการเก็บไว้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องมีวิธีการเก็บที่เหมาะสมหรือทำลายด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เครื่องรางญี่ปุ่น ที่หมดอายุ
เครื่องรางญี่ปุ่นที่เข้าข่าย หมดอายุ และควรนำไปคืนที่วัด-ศาลเจ้า ได้แก่ เครื่องรางที่ชำรุด เสียหาย เก่า ดูมีลักษณะเก่า เครื่องรางที่ไม่ต้องการแล้ว รวมไปถึง เครื่องรางที่สำเร็จตามจุดประสงค์ที่ต้องการแล้ว หรือแม้แต่ เครื่องรางที่ยังไม่ได้ใช้แต่ไม่ต้องการแล้วก็สามารถคืนได้เช่นกัน แต่รวมๆแล้วจะเป็นเครื่องรางที่เราไม่ต้องการเก็บไว้แล้ว เพื่อการทำลายเห็นหลัก
วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งที่วัด-ศาลเจ้า ต้องการให้คืนเครื่องรางเหล่านี้แก่วัด-ศาลเจ้านั้นคือ การทิ้ง ทำลายที่ไม่ถูกต้อง และดูไม่ดี ต่อภาพลักษณ์ของวัด-ศาลเจ้าเหล่านั้น เช่น การทิ้งเครื่องรางลงถังขยะ ทิ้งลงถนน เป็นต้น จึงกำหนดเป็นกุศโลบาย โปรดนำมาคืนหากไม่ต้องการใช้ ที่วัดด้วยค่ะ ตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น และสืบทอดจนมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นแล้วเราจึงไม่เคยเห็น เครื่องราง ของขลังญี่ปุ่นอยู่บนพื้นดิน หรือท้องถนน หรือสถานที่ที่ไม่ควรจะอยู่เลยค่ะ
เครื่องรางญี่ปุ่น ของขลัง ที่เก็บได้เท่าตราบที่ต้องการ
จริงๆแล้วเครื่องรางญี่ปุ่นไม่มีวันหมดอายุ เพียงแต่เป็นธรรมเนียมของการเปลี่ยนคืนเครื่องรางเก่าให้วัด-ศาลเจ้าไปทำลายในวิธีที่เหมาะสม จะสังเกตุว่า ส่วนใหญ่แล้ว เครื่องราง ของขลังของญี่ปุ่น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องรางของไทยที่เป็นพระเครื่องที่ทำจากโลหะ เครื่องรางญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นถุงผ้า เบา เปื้อนได้ ความคงทนคงไม่เหมือนโลหะ แต่หากเครื่องรางเหล่านั้นยังคงไม่ชำรุด บุบ ขาด เสียหาย และยังเป็นที่ต้องการของคุณอยู่ คุณก็สามารถเก็บไว้ได้เท่าที่คุณต้องการ
การสะสมเครื่องรางญี่ปุ่น
ในปัจจุบัน เกิดกระแสการสะสมเครื่องรางญี่ปุ่นขึ้น ไม่ใช่เฉพาะหมู่ของคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง แต่มีการขยายวงกว้างมากขึ้นไปยังนักท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งกลายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงาม ทรงคุณค่า เครื่องรางญีปุ่นบางรุ่นบางวัด เป็นรุ่นที่หายากที่หมู่มวลนักสะสมเครื่องรางญี่ปุ่น ตามหาด้วยเช่นกัน
JNTO-Japan National Tourism Organization หรือ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาเชิญชวนให้สะสมเครื่องรางญี่ปุ่น และให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของเครื่องรางญี่ปุ่น ในแต่ละความหมาย ทำให้การสะสมเครื่องรางญี่ปุ่น น่าสนใจมากขึ้น และง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นสะสม และการสะสมเครื่องรางที่มีความสวยงาม ก็เป็นงานอดิเรกน่าสนุกไปอีกแบบนะคะ
พลังงานในเครื่องรางญี่ปุ่น
อีกกระแสหนึ่งเชื่อกันว่า การปลุกเสกเครื่องรางญี่ปุ่น ก็เหมือนกับการ ชาร์จประจุ พลังงานเข้าไปในถ่ายไฟฉาย ดังนั้นแล้ว การที่ใช้เครื่องรางญี่ปุ่น พอนานวันเข้า พลังของเครื่องรางญี่ปุ่น จะเสื่อมคลายลงได้เช่นกัน แต่ระยะเวลาเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ ดังนั้นแล้ว จึงถือโอกาสในช่วงสิ้นปี (ส่วนใหญ่คนไปวัดศาลเจ้าอยู่แล้ว ) ทำการเปลี่ยนใหม่ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมที่ว่า มีอายุ 1 ปี นั่นคืออีกระแสความเชื่อหนึ่ง
จุดรับคืนเครื่องรางญี่ปุ่น
มาพูดถึงจุดรับคืนเครื่องรางญี่ปุ่น โดยจุดที่คืนเครื่องรางญี่ปุ่นนั้น จะมีจุดที่รับคืนชัดเจน และเขียนป้ายกำกับ หรือหากไม่พบ ก็สามารถคืนกับเจ้าหน้าที่ของทางวัด-ศาลเจ้านั้นๆได้เช่นกัน การคืนเครื่องรางญี่ปุ่นนั้นไม่มีความยุ่งยาก เพียงนำมาวางลงในกล่องหรือถาดรับคืนเครื่องราง และกล่าวคำขอบคุณเครื่องรางของคุณในใจ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ
ฝากความรู้สึกผ่านเครื่องรางญี่ปุ่น
ระยะหลังเครื่องรางญี่ปุ่นได้ถูกมาใช้เป็นของฝากของที่ระลึก เนื่องจากมีเอกลักษณ์ที่สวยงาม หลายคนได้มาจากคนรัก เพื่อนสนิท หลายคนเช่าซื้อเครื่องรางญี่ปุ่นที่เป็นคู่กัน สิ่งหนึ่งที่มักซ่อนอยู่ในเครื่องรางเหล่านี้คือ การฝากความรู้สึกผ่านเครื่องราง บางครั้งของแทนใจที่เพื่อนสนิท ให้เพื่อนในโอกาสวันเกิด วันแต่งงาน บ่อยครั้งมักถูกถามว่า เราจะเก็บเครื่องรางเหล่านี้ไว้ตลอดไปได้หรือไม่ คำตอบคือ เราสามารถเก็บเครื่องรางความทรงจำเหล่านี้ได้นานเท่านานตราบที่คุณต้องการ เราไม่สามารถทำลายความรู้สึกเหล่านี้ได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลกับเรื่องเหล่านี้
ต้องการคืนเครื่องรางแต่ไปคืนไม่ได้
สำหรับเครื่องรางญี่ปุ่นที่คุณอยากจะคืน แต่ไม่สามารถไปคืนด้วยตัวเอง ทำอย่างไร แนะนำตามนี้
- เก็บรักษาไว้จนกว่าจะมีโอกาสที่จะคืนได้ด้วยตนเอง
- หาคนช่วยไปคืนให้ เผื่อมีทริปไปวัดนั้นๆพอดี
- ส่งจดหมายพร้อมเครื่องรางไปโดยตรงไปที่วัด-ศาลเจ้านั้นๆ ว่า คืนเครื่องราง พร้อมเงินญี่ปุ่น จำนวนหนึ่ง
- ให้ร้านค้าที่เช่าซื้อมา แจ้งว่าโปรดนำไปคืนวัด-ศาลเจ้า
- เก็บสะสม และจัดเก็บไว้ที่ที่เหมาะสม
สรุปเกี่ยวกับ เครื่องรางญี่ปุ่น หมดอายุ
เครื่องรางญี่ปุ่น ไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ต้องคืนวัด-ศาลเจ้าเมื่อครบ 1 ปี หากคุณต้องการ สามารถทำได้ ถ้าคุณไม่ต้องการ หรือไม่สามารถทำลายด้วยตัวเองด้วยวิธีการที่เหมาะสม และคุณสามารถเก็บไว้ตราบที่คุณยังต้องการ
แชร์บทความนี้
คงจะดีมาก ถ้าบทความดีๆเหล่านี้ ถูกส่งให้เพื่อนคุณได้อ่านบ้าง แชร์เพื่อให้เพื่อนของคุณได้อ่านบ้างและทราบเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับเครื่องรางญี่ปุ่น ที่ถูกต้อง เราเองก็อยากให้คุณทำอย่างนั้นเช่นกัน เราต้องอ่านหนังสือ มากกว่า 25 หน้า เพื่อเขียนบทความที่ดีๆและถูกต้องเพียง 1 หน้านี้ และใช้เวลาอยู่หลายวัน เว็บเล็กๆของเรารู้สึกดีที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้องกับคุณ ปุ่มแชร์อยู่ด้านล่าง หรือก็อปลิ้งพร้อมให้เครดิต siamkane.com แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้วค่ะ